“เบาหวาน” โรคร้ายเป็นแล้วไม่หายจริงหรือ?

"เบาหวาน" โรคร้ายเป็นแล้วไม่หาย จริงหรือ?

ปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของคนไทยหนีไม่พ้นโรคเบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย 

แต่หากป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว ธรรมชาติของโรคไม่สามารถหายขาดได้ 100% หรือหายได้ด้วยตัวเอง แต่ในกระบวนการรักษาโรคเบาหวานทำได้เพียงควบคุมให้โรคอยู่ใน “ระยะสงบ” ซึ่งหมายถึงระยะที่โรคไม่แสดงอาการใด ๆ และร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ โดยระยะสงบนี้สามารถคงอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปีขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน 

การรักษาโรคเบาหวานการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหาร การออกกำลังกาย การลดน้ำหนักตัวถ้าอ้วน ยังคงเป็นหัวใจหลักของการรักษา ส่วนการรักษาด้วยยาขึ้นกับชนิดของโรคเบาหวาน ซึ่งถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่พบในเด็กหรือคนอายุน้อยจำเป็นต้องใช้ยาอินซูลิน ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 มักพบในผู้ใหญ่ที่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน สาเหตุของเบาหวานชนิดนี้เกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสมและเกินความต้องการ ไม่ค่อยออกกำลังกาย และความอ้วน หากยังใช้ชีวิตแบบเดิม โรคอาจจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทราบได้จากการที่ใช้ยาปริมาณเพิ่มขึ้นหรือจำเป็นต้องฉีดยาอินซูลิน 

แต่ถ้ารักษาที่สาเหตุ เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและปริมาณที่เหมาะสมร่วมกับการออกกำลังและการควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมจะทำให้โรคดีขึ้น เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลดีขึ้นหรือลดขนาดยาลง  ในรายที่ระดับน้ำตาลสูงมากหรือใช้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้จำเป็นต้องใช้ยาซึ่งมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีดรวมถึงอินซูลิน 

สำหรับตัวอย่างอาหารที่ใช้ในการรักษาเบาหวาน ได้แก่

1. จานอาหารสุขภาพ 2:1:1

 ทานผักครึ่งจาน ทานข้าว 1 ใน 4 ของจานและควรเป็นข้าวไม่ขัดสี เนื่องจากข้าวกล้องระดับน้ำตาลจะขึ้นน้อยกว่าข้าวขาวและข้าวเหนียว อีก 1 ใน 4 ของจานให้ทานอาหารประเภทโปรตีนจำพวกปลา, ไก่ หรือ ไข่ เลือกเนื้อที่ไม่ติดมัน ไม่ทานหนัง เครื่องดื่มเลือก น้ำเปล่า นมจืด  ชาเชียวหรือกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล ทดแทนของหวานด้วยผลไม้ที่น้ำตาลไม่สูง เช่น ส้ม (1 ผล) แอปเปิ้ล (1/2-1 ผล) ชมพู่ (2 ผล) เงาะ (3-4 ผล) เป็นต้น (รับประทานเพียงแต่ละชนิดสลับกันไป) ก็จะดีต่อร่างกายของผู้ป่วยเบาหวาน


2. การควบคุมปริมาณแคลอรี่ในอาหารต่อวัน

ซึ่งอาจจะให้รับประทานอาหารปริมาณ 1,200-1,500 แคลอรี่ต่อวันในเพศหญิง และ 1,500-1,800 แคลอรี่ต่อวันในเพศชาย แต่อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นกับน้ำหนักตัวและกิจกรรมทางกายต่อวัน ในกรณีที่รับประทานอาหารแคลอรี่ที่ต่ำมาก เช่น  800 แคลอรี่ต่อวัน (Very low calories diet) ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากอาจจะต้องปรับขนาดยา มีการตรวจระดับน้ำตาล และมีอาหารทดแทนเพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบ บางครั้งผู้เป็นเบาหวานรับประทานอาหารประเภทแป้ง ข้าว ขนมปัง มากจนชิน ถ้ารับประทานน้อยอาจจะรู้สึกว่าไม่อิ่ม แต่การค่อยๆลดข้าวลง เช่น ลด ½ ทัพพี และค่อย ๆ เพิ่ม ผัก เปลี่ยนมาเป็นอาหารเส้นใยสูง เช่น ข้าวกล้อง จะอยู่ท้องและไม่ค่อยหิวมาก พอผ่านไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่อร่างกายปรับตัวได้ จะค่อย ๆลดข้าวทีละ ½ ทัพพี จนได้ปริมาณแคลอรี่ตามที่แนะนำอาจจะสามารถคงการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าในระยะยาว


3. การอดอาหารเป็นช่วง ๆ (Intermittent fasting; IF)

มีการศึกษาพบว่าการลดปริมาณมื้อเย็นจะช่วยการลดน้ำหนักและค่าน้ำตาลดีขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานมื้อเย็นน้อยและให้รับประทานมื้อเย็นเร็วขึ้น จนปัจจุบันหลายรายเริ่มถึงกับมีการงดอาหารเป็นช่วง ๆ ที่เรียกว่า Intermittent fasting หรือเรียกย่อ ๆ ว่า IF ซึ่งมีหลายวิธี แต่สูตร IF 16/8 การกินอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง และอดอาหารในช่วงเวลา 16 ชั่วโมง เป็นสูตรที่แนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มทำ IF เพราะทำได้ง่าย ทำได้ต่อเนื่อง และไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวันมากจนเกินไป แต่ถ้าจะทำ IF ควรปรึกษาแพทย์ เพราะต้องมีการตรวจน้ำตาลด้วยตนเองและการปรับยา โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาที่ทำให้เกิดน้ำตาลต่ำหรืออินซูลิน

4. ลด น้ำตาล ข้าว แป้ง ขนมปัง

การรับประทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำ โดยลด น้ำตาล ข้าว แป้ง ขนมปัง เน้น อาหารโปรตีนและไขมัน แต่ควรเป็นโปรตีนที่ดีและไขมันที่ดี เช่น ปลา ไก่ ไข่ น้ำมันมะกอก ซึ่งอาหารประเภทที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำจะมี ชนิด อาหาร Low carb และ อาหาร ketogenic diet ซึ่งอาหาร Low carb จะรับประทานปริมาณคาร์โบไฮเดรต 50-150 กรัมต่อวัน แต่ อาหาร ketogenic diet จะรับประทานปริมาณคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 50 กรัมต่อวัน และโปรตีนไม่เกินร้อยละ 20 ของพลังงาน ซึ่งในระยะสั้นอาจจะลดน้ำหนักได้ดี แต่ผลการลดน้ำหนักในระยะยาวอาจจะไม่ต่างกัน อีกทั้งการรับประทานอาหารลักษณะดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ในระยะยาวและควรปรึกษาแพทย์โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ

นอกจากนี้ควรรู้จักวิธีการอ่านฉลากโภชนาการ การเลือกทานอาหารนอกบ้าน ระหว่างการเดินทาง และในวันที่เจ็บป่วยเพิ่มเติมด้วย

เป้าหมายในการรักษาเบาหวานเพื่อให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี ไม่มีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ จากเบาหวาน 


คนที่อยู่กับโรคเบาหวานโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนได้ คือ คนที่เข้าใจ รู้จักโรคเบาหวาน และปรับตัวให้เข้ากับโรคที่เป็น ถ้าไม่ปรับที่ต้นเหตุมารักษาก็เป็นการรักษาที่ปลายเหตุโดยการปรับยาและเพิ่มยาเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เนื่องจากอาหารก็เป็นยาอย่างหนึ่ง สิ่งที่เรากินหรือดื่มเข้าไป จะไปต่อสู้กับโรคหรือส่งเสริมโรคให้เป็นมากขึ้นก็ได้ รวมถึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจโรคและภาวะแทรกซ้อน โดยอยู่ร่วมกับเบาหวานอย่างถูกต้อง ซึ่งหลายสิ่งเป็นสิ่งที่ผู้เป็นเบาหวานต้องทำเอง เพื่อตัวผู้ป่วยเอง โดยที่ไม่มีใครสามารถทำแทนได้

สุขกาย ขอแนะนำ ดื่มมัทฉะชาเขียวเป็นประจำ

อ่านข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับผงมัทฉะสุขกาย

กรุณากรอกคอมเม้นท์ด้านล่าง...

ดูบทความอื่นๆ

>