4 วิธี เพิ่มจุลินทรีย์ดีโพรไบโอติก

หลายท่านคงทราบกันดีแล้วว่า จุลินทรีย์ดีโพรไบโอติกมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นระบบลำไส้ ภูมิคุ้มกัน รวมถึงระบบประสาทและสมอง แทบจะเรียกได้ว่ามีผลต่อทั้งร่างกายของเราเลย พอรู้แบบนี้แล้วทุกคนก็คงจะอยากหาวิธีมาเพิ่มเจ้าฮีโร่ตัวน้อย ให้มาอยู่กับร่างกายของเรามาก ๆ หลากหลายสายพันธุ์ เรามีวิธีง่าย ๆ มาฝากกัน

1. เสริมกองทัพด้วยการรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ดี

ในเมื่ออยากเพิ่มจุลินทรีย์ดีก็กินจุลินทรีย์ดีเข้าไปเลย ง่ายนิดเดียว โดยอาหารที่มีจุลินทรีย์ดีที่มีหลายชนิดได้แก่ 

  • โยเกิร์ต เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักนมด้วยจุลินทรีย์ดีกลุ่มแบคทีเรียแลคติก (Lactic Acid Bacteria) แบคทีเรียกลุ่มนี้จะย่อยน้ำตาลที่อยู่ในนม แล้วผลิตกรดแลคติก จึงให้รสชาติเปรี้ยวซึ่งมีผลดีทั้งต่อตัวจุลินทรีย์เองและต่อร่างกายของเรา แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมรับประทานออกมามากมาย อีกสิ่งหนึ่งที่ควรสังเกตคือ ปริมาณน้ำตาล ทางที่ดีควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยจะได้ไม่เกิดผลกระทบต่อร่างกายในด้านอื่น ๆ ตามมา
  • นัตโตะ (Natto) เป็นอาหารพื้นเมืองของประเทศญี่ปุ่น ได้จากการหมักถั่วเหลืองด้วยจุลินทรีย์โพรไบโอติก Bacillus subtilis ทำให้เกิดรสชาติเฉพาะตัวและมีกลิ่นที่ค่อนข้างแรงแถมมีลักษณะเป็นเมือกซึ่งเกิดจากการย่อยโปรตีนระหว่างการหมัก ดังนั้นจึงทำให้มีทั้งผู้ที่ชอบและไม่ชอบ จนถึงขั้นมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “ถั่วเน่า” แต่ก็ถือว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์มากมายเลย เพราะอุดมด้วยโปรตีนจากถั่วเหลือง มีโพรไบโอติกแล้วยังมีเอนไซม์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดตีบ ที่เรียกว่า นัตโตะ ไคเนส (nattokinase) อีกด้วย
  • คีเฟอร์ (Kefir) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ บัวหิมะธิเบต คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักนมด้วยหัวเชื้อคีเฟอร์ ซึ่งประกอบด้วยยีสต์และแบคทีเรียแลคติค ทำให้มีรสชาติเปรี้ยว และมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่เล็กน้อย เมื่อดื่มจะรู้สึกสดชื่น ตามชื่อ Kefir ในภาษาตุรกีที่แปลว่า “ทำให้รู้สึกดี”
  • คอมบูชะ (Kumbucha) เป็นเครื่องดื่มที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ได้จากการหมักชาดำหรือชาเขียวผสมน้ำตาล ด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เรียกว่า สโคบี (Scoby) ซึ่งประกอบด้วยยีสต์และจุลินทรีย์โพรไปโอติก จึงทำให้มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแถมยังมีความซ่าจากก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมัก
  • ข้าวหมาก อาหารพื้นบ้านของไทยที่หากินได้ง่าย แต่มีประโยชน์มากมายเลย ข้าวหมากผลิตจากการนำข้าวเหนียวไปหมักกับลูกแป้งซึ่งประกอบด้วย เชื้อรากลุ่ม Amylomyces, Rhizopus ยีสต์ และแบคทีเรียแลคติก นอกจากนี้ยังมีเครื่องเทศต่างๆเช่น ข่า กระเทียม กานพลู พริกไทย ขิง ทำหน้าที่คัดเลือกจุลินทรีย์ต่างๆ โดยจะยอมให้จุลินทรีย์ที่จำเป็นในการหมัก เจริญเติบโตได้ และยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคที่ไม่ต้องการ

บางคนได้ยินคำว่าเชื้อรา อาจจะตกใจว่า อาหารมีราจะกินได้จริงหรือ มีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ แต่ไม่ต้องกังวลไปครับ เชื้อรามีทั้งกลุ่มที่ให้โทษ ทำให้อาหารเน่าเสีย หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา และกลุ่มที่ให้คุณประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในการผลิตอาหารมากมาย อย่างอาหารที่ทุกคนคุ้นเคยกันเช่น เห็ด ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มเดียวกับเชื้อรา แต่ทั้งนี้อาหารที่มีจุลินทรีย์ดีเหล่านี้เรามักจะรับประทานแบบไม่ผ่านความร้อนเพื่อไม่ให้จุลินทรีย์ดีตาย ดังนั้นทุกคนควรมั่นใจว่ากระบวนการผลิตอาหารนั้นสะอาด ถูกหลักอนามัย เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคและเกิดอันตรายต่อสุขภาพของเราครับ

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเวย์โปรตีน

เวยโปรตีน ไอโซเลท ควอดเพล็กซ์

2. เพิ่มเสบียงให้กองทัพจุลินทรีย์ดี 

จุลินทรีย์ดีในร่างกายของเราก็คือสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ต้องการอาหารในการเจริญเติบโต ซึ่งอาหารที่เหล่าจุลินทรีย์ดีกลุ่มนี้ชอบก็คือใยอาหาร โดยเฉพาะใยอาหารกลุ่มพรีไบโอติก (Prebiotic) ซึ่งเป็นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ และร่างกายไม่สามารถย่อยได้ จึงถูกลำเลียงไปถึงลำไส้ใหญ่ และเป็นอาหารชั้นที่ให้กับเหล่าจุลินทรีย์ดี ไม่ว่าจะเป็น หัวหอม กระเทียม กล้วย แอปเปิล ถั่วเหลือง ถั่วแดง ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ วอลนัท รวมถึงธัญพืชต่างๆ ใยอาหารเหล่านี้ไม่เพียงเป็นเสบียงที่ดีช่วยให้จุลินทรีย์ดีเจริญเติบโตเท่านั้น แต่ยังมีผลดีต่อสุขภาพของเราในหลายๆด้านเลย ไม่ว่าจะช่วยเรื่องการขับถ่าย หรือช่วยลดโอกาสการเกิดโรคไขมันและหลอดเลือด

3. เพิ่มน้ำส้มสายชู หรือผักดองในมื้ออาหาร

น้ำส้มสายชูแท้ที่ได้จากการหมัก หรือผักดอง มักมีกรดจากธรรมชาติหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น กรดกลูโคนิค (Gluconic Acid) กรดอะซิติก (Acetic Acid) ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ดี กลุ่มแบคทีเรียแลคติก ตัวอย่างอาหารที่หาได้ง่ายๆในกลุ่มนี้ได้แก่ ผักกาดดอง อาหารหาง่ายที่หลายๆคนคุ้นเคย หรือกิมจิ อาหารเกาหลีที่แพร่หลายมากแล้วในประเทศไทย นอกจากอาหารเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ดีในลำไส้ของเราแล้ว อาหารกลุ่มนี้ยังมีกลิ่นรสเฉพาะตัวซึ่งได้มาจากกรดที่เกิดขึ้นระหว่างการหมัก ช่วยเพิ่มรสชาติให้กับอาหารได้อีกด้วย

ทั้งนี้สิ่งที่ควรระวังในการรับประทานอาหารกลุ่มนี้เป็นประจำคือปริมาณโซเดียม เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้มักมีการใช้เกลือในกระบวนการแปรรูปอาหารทำให้มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง

4. เลือกรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Probiotic ที่มีคุณภาพ

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Probiotic ที่มีคุณภาพถือมีอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตที่เร่งรีบให้มีสุขภาพดีได้ง่ายขึ้นค่ะ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกลุ่มนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีรวบรวมจุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์หลากหลายชนิดมาไว้ด้วยกัน ลดโอกาสที่คุณอาจจะได้รับสารอาหารบางอย่างเกินความจำเป็นเช่น น้ำตาลหรือโซเดียมที่อาจแฝงมากับอาหารทั่วไปที่มีจุลินทรีย์ดี รวมถึงถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย จะสามารถช่วยหุ้มเกราะให้จุลินทรีย์ดี รอดพ้นจากความเป็นกรดที่รุนแรงในกระเพาะอาหาร แล้วไปแสดงประโยชน์ในลำไส้ของคุณได้อย่างเต็มที่ด้วย

แค่นี้ทุกคนก็ได้รายการอาหารประเภทต่าง ๆ ไปเพิ่มจุลินทรีย์ดีโพรไบโอติก เพื่อเป็นฮีโร่คอยปกป้องร่างกายของเรากันแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารชนิดต่างๆที่พอเหมาะ และมีสุขภาพดีกันทุกคนนะครับ

กรุณากรอกคอมเม้นท์ด้านล่าง...

ดูบทความอื่นๆ

>